วัดกำแพงแลง

วัดกำแพงแลง

ดกำแพงแลง หรือ วัดเทพปราสาทศิลาแลง ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี อยู่ห่างแม่น้ำเพชรบุรีมาทางตะวันออกประมาณ 1 กิโลเมตร ชื่อดั้งเดิมไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด สำหรับชื่อที่เรียกกันว่า “กำแพงแลง” นั้นคงเป็นชื่อที่ผู้คนในสมัยหลังเรียกกันตามลักษณะที่พบเห็น เนื่องจากภายในวัดมีปราสาทเขมรก่อด้วยศิลาแลงและมีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ จากลักษณะดังกล่าวจึงเป็นที่มาของชื่อวัดนี้ว่า “กำแพงแลง” หมายถึงกำแพงวัดที่ก่อด้วยศิลาแลงนั่นเอง

ลักษณะทางกายภาพวัดแห่งนี้แบ่งออกเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่สำหรับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และพื้นที่สำหรับการทำสังฆกรรมโดยทั่วไป ส่วนของโบราณสถานจะอยู่ในพื้นที่สำหรับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยมีเขตของกำแพงศิลาแลงกั้น ส่วนพื้นที่ทำสังฆกรรมอยู่นอกเขตกำแพงศิลาแลง

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
แผนผัง
ปราสาทวัดกำแพงแลงมีผังพื้นล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในกำแพงศิลาแลงเป็นที่ตั้งของปราสาทศิลาแลงแบบศิลปะเขมรทั้งหมด 4 องค์ ปราสาท 3 องค์ทางด้านหน้าวางตัวเรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ โดยปราสาทประธานมีขนาดสูงใหญ่กว่าอีก 2 องค์ ส่วนปราสาทองค์ที่ 4 ตั้งอยู่ด้านหลังของปราสาทประธานด้านทิศตะวันออก และมีโคปุระ (ซุ้มประตูทางเข้า) 1 หลังที่มียอดเป็นปราสาท ภายในกำแพงศิลาแลงยังพบสระน้ำอยู่ชิดขอบกำแพงทางทิศตะวันออกด้วย
โคปุระ
โคปุระ หรือซุ้มประตูทางเข้าก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธาน ลักษณะเป็นปราสาทเขมร ศิขระหรือส่วนยอดยังคงสภาพของแต่ละส่วนไว้อย่างสมบูรณ์ ตัวเรือนธาตุของปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีมุขยื่นออกมาจากเรือนธาตุทั้ง 4 ด้านเป็นจตุรมุขลดหลั่นกัน 2 ชั้น สันหลังคามุขประดับด้วยบราลี มุขแต่ละด้านมีหน้าต่างหลอกเป็นลูกกรงมะหวดที่ผนังด้านข้างด้านละ 1 แห่ง ประตูทางเข้ามีเพียงทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเท่านั้นที่สามารถเดินเข้าไปได้ ส่วนประตูทางด้านทิศเหนือและทิศใต้เป็นประตูหลอกปิดทึบ รอบโคปุระพบบัวเชิงผนัง ส่วนฐานโคปุระ มีผังเป็นรูปกากบาทตัดกัน เนื่องจากเป็นซุ้มประตูทางเข้าจึงทำเป็นฐานทรงเตี้ยสำหรับเดินเข้าได้อย่างสะดวก ปัจจุบันที่โคปุระไม่พบลวดลายปูนปั้นหลงเหลืออยู่แล้ว คงเหลือแต่ร่องรอยของปูนที่ฉาบอยู่ด้านนอกเท่านั้น
ปราสาทประธาน
ก่อด้วยศิลาแลงตั้งอยู่บนฐานที่ซ้อนกันอย่างน้อย 2 ชั้น ศิขระหรือส่วนยอดของปราสาทได้หักพังลงมาแล้ว แต่ยังคงเหลือชั้นรัดประคดและชั้นอัสดงอยู่ รวมทั้งมีนาคปักและกลีบขนุนตามอยู่ตามส่วนยอดอยู่บ้าง เรือนธาตุของปราสาทประธานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีประตูทางเข้าทั้ง 4 ทิศ ซุ้มหน้าบันเหนือประตูทางเข้าด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของปราสาทยังมีลวดลายปูนปั้นหลงเหลืออยู่เช่นเดียวกับบริเวณฐาน
ปราสาททิศเหนือ
ก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของปราสาทประธาน ปัจจุบันหักพังลงเหลือเพียงส่วนด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกเท่านั้น ลักษณะคงเป็นเช่นเดียวกับปราสาทประธานแต่มีขนาดเล็กกว่า มีประตูทางเข้าทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตก ส่วนด้านทิศเหนือและใต้เป็นประตูหลอกสลักปิดทึบไว้ 2 ชั้น
ปราสาททิศใต้
ก่อด้วยศิลาแลง อยู่ทางทิศใต้ของปราสาทประธาน มีลักษณะเช่นเดียวกับปราสาทองค์อื่นและคงมีขนาดสูงใหญ่เช่นเดียวกับปราสาททิศเหนือ โดยยังคงไว้ซึ่งองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของส่วนยอดหรือศิขระ ได้ค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนเรือนธาตุและฐานบางส่วนได้รับการบูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่ในสมัยหลัง มีประตูเข้าทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตก ด้านทิศเหนือและใต้เป็นประตูหลอกปิดทึบ ที่สันของประตูหลอกปั้นปูนเป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัยทั้งสองด้าน ปัจจุบันชำรุดไปมากเหลือเพียงส่วนโกลนของศิลาแลง
ปราสาททิศตะวันตก
ตั้งอยู่ด้านหลังของปราสาทประธานทางด้านทิศตะวันตก ปัจจุบันอยู่ในสภาพพังทลายลงมาเกือบหมด เหลือเพียงผนังทางด้านทิศเหนือและส่วนฐานซึ่งมีความสูงกว่าปราสาททุกองค์เท่านั้น ลักษณะคล้ายกับปราสาททางด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีประตูทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตก ส่วนด้านทิศเหนือและใต้เป็นประตูหลอก
กำแพงศิลาแลง
ก่อด้วยศิลาแลง ล้อมรอบกลุ่มปราสาทและสระน้ำไว้ภายใน ที่กึ่งกลางของกำแพงศิลาแลงทั้ง 4 ด้านมีประตูทางเข้าด้านละ 1 ประตู สันกำแพงประดับด้วยบราลีศิลาแลง
สระน้ำ
ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกลุ่มปราสาทภายในเขตของกำแพงแก้ว เป็นสระน้ำกรุด้วยศิลาแลง ปัจจุบันถูกถมไปแล้ว

[mappress mapid=”596″]

Related posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *